ข้อมูลพื้นฐานกองนิติการ
ชื่อหน่วยงาน ภาษาไทย : กองนิติการ ภาษาอังกฤษ : Legal Affairs Division
ที่ตั้ง (1) กองนิติการ งานวินัยและสอบสวน งานการคดี และงานระเบียบและกฎหมาย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 6
(2) กองนิติการ งานนิติกรรมสัญญา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
อาคารโดมบริหาร ชั้น 2
ประวัติความเป็นมา
ย้อนหลังเวลาไปประมาณ 55 ปีเศษ ในระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 รูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้นนอกจากจะมีอธิการบดี เป็นผู้ควบคุมดุแลการบริหารงานในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังกำหนดให้มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ช่วยอธิการบดีในฝ่ายธุรการทั่วไปของมหาวิทยาลัยและประสานงานกับคณะต่าง ๆ (มาตรา 23 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495) โดยมีสำนักงานเลขาธิการเป็นหน่วยงานรองรับ (มาตรา 4 ทวิ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2500)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการจัดแบ่งส่วนราชการ ในสำนักงานเลขาธิการ ออกเป็น กองกลาง กองบริการการศึกษา และกองห้องสมุด (ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2504) โดยในส่วนของกองกลาง แบ่งออกเป็น 6 แผนก คือ
(1) แผนกสารบรรณ
(2) แผนกการเจ้าหน้าที่
(3) แผนกทะเบียนและสถิตินักศึกษา
(4) แผนกเงิน
(5) แผนกบัญชี
(6) แผนกพัสดุ
จากการสอบถามอดีตผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้ทราบข้อมูลว่า “ในช่วงก่อนที่ท่านจะเริ่มเข้ามารับราชการที่มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2517 โดยได้รับการบรรจุในตำแหน่งวิทยากรโท ประจำอยู่สำนักงานอธิการบดี มีภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยปฏิบัติแฝงอยู่ในงานของกองกลางอยู่แล้ว” ต่อมาในปี พ.ศ.2516 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 โดยยกเลิกสำนักงานเลขาธิการ และตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย พร้อมกับได้มีการจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยใหม่เป็นดังนี้
(1) สำนักงานอธิการบดี
(2) คณะ
(3) วิทยาลัย
(4) แผนกอิสระ
และอาจให้มีสถาบันเพื่อการวิจัยและสำนักเพื่อส่งเสริมวิชาการเป็นส่วนราชการอีกได้โดยสำนักงานอธิการบดีอาจแบ่งส่วนราชการเป็นกองและแผนก ซึ่งจะกระทำได้โดยทำเป็นประกาศทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐและประกาศในราชกิจจานุเษกษา (มาตรา 5 และมาตรา 7 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 แก้ไขฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2516)
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2520 มหาวิทยาลัยจึงได้จัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยยกเลิกการแบ่งส่วนราชการในสำนักเลขาธิการ และจัดวางโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของฝ่ายบริหารในสำนักงานอธิการบดีใหม่เป็นดังนี้
(1) กองกลาง
(2) กองการเจ้าหน้าที่
(3) กองกิจการนักศึกษา
(4) กองคลัง
(5) กองบริการการศึกษา
(6) กองแผนงาน
(ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2520) ซึ่งต่อมามีการจัดตั้งกองงานศูนย์รังสิต เพิ่มขึ้นอีก 1 กอง (ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2531)
จากการสอบถามอดีตผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง ซึ่งมีส่วนร่วมในการพิจารณาจัดโครงสร้างสำนักงานอธิการบดี และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ตามโครงสร้างดังกล่าว ในเวลาต่อมา ทำให้ได้รับทราบข้อมูลว่า “ในขณะที่มีการพิจารณาจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานอธิการบดีนั้น มีภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว และมีความเห็นค่อนข้างชัดเจนว่างานด้านกฎหมายมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติของงานกับงานของกองอื่น ๆ แต่ในขณะนั้นปริมาณภาระงานด้านกฎหมายยังไม่มีมากพอที่จะตั้งเป็นหน่วยงานระดับกองได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาระงานของหน่วยงานที่จัดตั้งเป็นกองในขณะนั้น ประกอบกับมีภาระงานบางส่วนที่เกี่ยวโยงอยู่กับงานของ กองการเจ้าหน้าที่ คืองานสอบสวนวินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ จึงได้มีการกำหนดให้นำภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยมาผนวกรวมเป็นภาระงานอยู่ในสังกัดกองการเจ้าหน้าที่ โดยมีงานวินัยและนิติการ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับ “งาน” เป็นผู้รับผิดชอบและปฏิบัติ” และโครงสร้างดังกล่าวนี้ ได้ถือปฏิบัติเรื่อยมาในขณะที่มหาวิทยาลัยมีการขยายตัวอย่างมาก ทั้งการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ การขยายการศึกษาไปสู่ภูมิภาค การปรับเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามนโยบายรัฐบาล มีผลทำให้ภารกิจของมหาวิทยาลัยมีความหลากหลายและเพิ่มใหม่มากขึ้น รวมถึงภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยด้วย ประกอบกับลักษณะงานในความรับผิดชอบของงานวินัยและนิติการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานของกองการเจ้าหน้าที่คงมีเฉพาะเรื่องวินัย การอุทธรณ์ การร้องทุกข์ ส่วนภาระงานโดยทั่วไปจะเน้นเรื่องกฎหมาย จึงมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติของงาน เมื่อเป็นดังนี้ จึงย่อมมีความสัมพันธ์กับบทบาทของผู้บังคับบัญชา ทั้งในด้านการตรวจสอบ กลั่นกรอง ให้คำปรึกษา และในด้านความรับผิดชอบ ซึ่งในการปฏิบัติงานต้องลงนามรับรองการตรวจสอบ กลั่นกรองเรื่อง จะมีผลให้ต้องผูกพันรับผิดชอบร่วม โดยเฉพาะในหลายเรื่องหลายกรณีที่เป็นปัญหาคาบเกี่ยวที่กระทบกับบุคคลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยประกอบกับในทางปฏิบัติมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับงานกฎหมาย ถือเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง จึงมีแนวความคิดในการที่จะแยกภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ งานวินัยและนิติการ ออกจากกองการเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 สภามหาวิทยาลัยจึงอนุมัติเห็นชอบการปรับโครงสร้างสำนักงานอธิการบดีให้ประกอบด้วยหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย โดยในส่วนภาระงานด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติอยู่เดิมคืองานวินัยและนิติการ สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบให้แยกออกจากกองการเจ้าหน้าที่ และจัดวางโครงสร้างใหม่ให้ชัดเจน สอดคล้องตามภารกิจหลักที่เน้นหนักงานเฉพาะด้านทางกฎหมาย มิใช่บริหารบุคคล โดยกำหนดให้เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มีสถานะเทียบเท่าหน่วยงานระดับกอง ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531 เรียกชื่อว่า “สำนักงานนิติการ” ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่สามารถได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาและรองรับการปฏิบัติงานตามนโยบายของมหาวิทยาลัยโดยตรง ขณะเดียวกันเพื่อให้เป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินงานตามภารกิจและรองรับการปรับขยายตัวของมหาวิทยาลัยต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารส่วนงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ปรับเปลี่ยนสถานะสำนักงานนิติการ เป็นกองนิติการ
ปัจจุบันเมื่อมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารส่วนงานอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้กองนิติการเป็นส่วนงานของสำนักงานบริหารทรัพยากรมนุษย์และกฎหมาย ตามข้อบังคับ ฯ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2559