Loading...

เกี่ยวกับงานการคดี

งานการคดี

           มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้มหาวิทยาลัย ดำเนินการด้านงานคดีปกครอง คดีแพ่ง คดีล้มละลาย คดีแรงงาน
คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีอาญาและคดีความอื่น ๆ ดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการบังคับคดีและการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครอง การยื่นคำขอรับชำระหนี้และการดำเนินการอื่นที่ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมาย คำพิพากษา คำสั่ง หรือคำบังคับของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง และการปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1.กระบวนการติดตามหนี้ การดำเนินคดี และการบังคับคดี

     1.1 งานการคดีรับเรื่องจากคณะ/ส่วนงาน

     1.2 นิติกรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง/ข้อกฎหมายเบื้องต้นเพื่อพิจารณาว่า คดีขาดอายุความหรือ พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่ หากขาดอายุความหรือพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วให้เสนอความเห็นให้ยุติเรื่องและส่งเรื่องคืนคณะ/ส่วนงานต้นเรื่อง

     1.3 หากตรวจสอบตาม 1.2 แล้วคดีไม่ขาดอายุความ หรือยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าเพียงพอต่อการดำเนินคดีหรือไม่หากข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานยังไม่เพียงพอให้จัดทำบันทึกถึงคณะ/ส่วนงานต้นเรื่องเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติม

     1.4 เมื่อได้รับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ให้จัดทำหนังสือติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยกำหนดระยะเวลาตามสัญญาหรือตามสมควรแก่กรณี เสนอต่อหัวหน้างานการคดี ผู้อำนวยการกองนิติการ และผู้ช่วยอธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบอำนาจ
จากอธิการบดีตามลำดับชั้น เว้นแต่ในกรณีที่คดีนั้น ๆ อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเท่านั้น จากนั้น ให้จัดส่งหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามภูมิลำเนา
ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

     1.5 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือทวงถามแล้ว ให้ตรวจสอบว่าลูกหนี้ชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ หากชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ให้เสนอ
ขออนุมัติให้ยุติการดำเนินคดีต่อหัวหน้างานการคดี ผู้อำนวยการกองนิติการ และผู้ช่วยอธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิการบดี ตามลำดับชั้น เว้นแต่ในกรณีที่คดีนั้น ๆ อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเท่านั้น ให้เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติด้วย
ในกรณีลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้เสนอขออนุมัติดำเนินคดีพร้อมจัดทำหนังสือขอความอนุเคราะห์พนักงานอัยการ

     1.6 เมื่อผู้มีอำนาจอนุมัติให้ดำเนินคดีและลงนามหนังสือขอความอนุเคราะห์พนักงานอัยการแล้วให้จัดส่งหนังสือถึงสำนักงานอัยการที่มีหน้าที่รับผิดชอบและติดตามประสานงานกับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายค่าธรรมเนียมและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานอัยการในการดำเนินคดีต่อไป

     1.7 เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยและมีคำบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในคำบังคับแล้วลูกหนี้ไม่ชำระ ให้นิติกรดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายบังคับคดี

     1.8 นิติกรดำเนินการสืบหาทรัพย์ของลูกหนี้ ในกรณีที่พบทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สามารถบังคับคดีได้ นิติกรจะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดีกับเจ้าพนักงานบังคับคดี (จ.พ.ค.) โดยขอให้ จ.พ.ค. ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป

     1.9 เมื่อ จ.พ.ค. ยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้แล้ว จะดำเนินการส่งเงินที่ได้รับจากการอายัดหรือจากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดได้ให้แก่มหาวิทยาลัย

     1.10 นิติกรจะเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยรับชำระเงินจาก จ.พ.ค. และนำส่งให้มหาวิทยาลัย

     1.11 นิติกรต้องทำรายงานผลการตรวจสอบหาทรัพย์สินและ/หรือการดำเนินการรับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

2.การแก้ต่างคดี

     2.1 เมื่องานการคดีได้รับหมายเรียกหรือคำสั่งศาลจากมหาวิทยาลัยหรือคณะ/ส่วนงานแล้วให้มอบหมายนิติกรเพื่อดำเนินการตรวจสอบคำฟ้องเพื่อพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะ/ส่วนงานใด และพิจารณาว่าในการแก้ต่างคดีจำเป็นจะต้องทราบข้อเท็จจริงและเอกสารพยานหลักฐานใดบ้างแล้วจัดทำบันทึกแจ้งให้คณะ/ส่วนงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารพยานหลักฐานต่าง ๆ พร้อมแจ้งชื่อ
เจ้าหน้าที่ 
ที่ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นเป็นอย่างดีเพื่อเป็นผู้ประสานงาน

     2.2 เมื่อได้รับข้อเท็จจริงและเอกสารพยานหลักฐานจากคณะ/ส่วนงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ตรวจสอบว่าครบถ้วนเพียงพอที่จะจัดทำคำให้การหรือไม่ หากยังไม่ครบถ้วนให้ทำบันทึกแจ้งให้คณะ/ส่วนงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมจัดส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมจนครบถ้วน จากนั้น ให้จัดทำคำให้การหรือคำให้การเพิ่มเติม (ในกรณีคดีปกครองที่พิจารณาแล้วเห็นควรให้มหาวิทยาลัยแก้ต่างเอง) หรือจัดทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดพร้อมสรุปข้อเท็จจริง (ในคดีแพ่งทุกคดี และในคดีปกครองที่พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการแทนมหาวิทยาลัย) เสนอต่อหัวหน้างานการคดี ผู้อำนวยการ
กองนิติการและผู้ช่วยอธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิการบดี ตามลำดับชั้น เว้นแต่ในกรณีที่คดีนั้น ๆ อธิการบดี
เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการเท่านั้น ให้เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาลงนามด้วย

     2.3 เมื่อผู้ช่วยอธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิการบดี หรืออธิการบดีแล้วแต่กรณี ได้ลงนามในคำให้การ คำให้การเพิ่มเติมหรือหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ให้จัดส่งคำให้การหรือคำให้การเพิ่มเติมต่อศาลปกครอง หรือจัดส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์สำนักงานอัยการสูงสุดแล้วแต่กรณี ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือจัดส่งด้วยตนเอง และติดตามประสานงานกับศาลหรือพนักงานอัยการในการดำเนินคดีต่อไป

     2.4 กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาใน 2.1 ถึง 2.3 ต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามคำสั่งศาลหรือระยะเวลาที่พนักงานอัยการกำหนดหากไม่สามารถกระทำได้ทันต้องดำเนินการขอขยายระยะเวลาต่อศาลหรือพนักงานอัยการก่อนที่จะสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาดังกล่าว