Loading...

เกี่ยวกับงานวินัยและสอบสวน

งานวินัยและสอบสวน

         มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการทางจรรยาบรรณ การดำเนินการทางวินัย ดำเนินการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิด ดำเนินการด้านสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการของมหาวิทยาลัย ประสานงานกับศูนย์ราชการใสสะอาดและส่งเสริมตรวจสอบความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ที่มิใช่การใช้สิทธิอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ การให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการสอบสวน
การดำเนินการทางวินัย จรรยาบรรณ และความรับผิดทางละเมิด พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจในความรับผิดชอบ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ขั้นตอนการปฏิบัติงานของงานวินัยและสอบสวน

ประกอบด้วย 3 กระบวนงาน ดังนี้

 1. กระบวนงานการสอบสวนวินัยและการอุทธรณ์ 

                1. ปรากฏมีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัย  หรือความปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัย  และได้ส่งเรื่องมายังกองนิติการหรืองานวินัยและสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการ

                 2. งานวินัยและสอบสวนจะดำเนินการออกใบรับเรื่องไว้เป็นหลักฐาน หรือลงรับไว้เป็นหลักฐาน และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเบื้องต้น ว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีหลักฐานตามสมควรหรือไม่  และการ  กระทำนั้นมีมูลเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยหรือไม่

                 3. งานวินัยและสอบสวนตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ไม่มีมูลก็จะดำเนินการเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาและสั่งให้ยุติเรื่อง

                 4. งานวินัยและสอบสวนจะบันทึกเสนอความเห็นต่อมหาวิทยาลัย (รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย) เพื่อพิจารณาลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย พร้อมกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีสาระสำคัญตามแบบ สว.1 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2551  เว้นแต่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  หรือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) กำหนด จะไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยก็ได้

                5. หลังจากเสนอมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยจะพิจารณาลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย

                6. เมื่อมหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแล้ว นับแต่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงนามคำสั่งฯ งานวินัยและสอบสวนจะบันทึกเสนอรองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาลงนามหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบพร้อมแจ้งสิทธิคัดค้านกรรมการสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยแจ้งเหตุคัดค้านกรรมการ วิธีการคัดค้าน ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหายื่นหนังสือคัดค้านได้ภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือนับแต่วันทราบเหตุแห่งการคัดค้าน 

                    ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาลงนามหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมสิทธิคัดค้านกรรมการสอบสวนดังกล่าว เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงนามหนังสือแล้ว  งานวินัยและสอบสวนจะส่งหนังสือดังกล่าวพร้อมสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และเอกสารสำหรับให้ผู้ถูกกล่าวหาลงชื่อ วัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่งเป็นหลักฐาน ไปให้ผู้ถูกกล่าวหายังหน่วยงานที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่  โดยงานวินัยและสอบสวนจะติดตามเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานการรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของผู้ถูกกล่าวหาคืนกลับมาดำเนินการต่อไป

                    ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือไม่อาจแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบได้  งานวินัยและสอบสวนจะส่งสำเนาคำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา ณ ที่อยู่ของ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ กรณีนี้ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว  เมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าว

                 7. เมื่องานวินัยและสอบสวนได้รับหลักฐานการรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของผู้ถูกกล่าวหาคืนกลับมา หรือครบกำหนดเวลาที่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งฯ แล้ว  หากภายใน 15 วันนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งฯ ได้มีเหตุคัดค้านกรรมการสอบสวน  ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน  จะพิจารณาเหตุคัดค้านกรรมการฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือคัดค้าน 

                     เมื่อไม่มีเหตุคัดค้านกรรมการสอบสวน หรือมีเหตุคัดค้านกรรมการฯ แต่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่าเหตุคัดค้านไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้  ภายใน 3 วันนับตั้งแต่ได้รับหลักฐานการรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของผู้ถูกกล่าวหาคืนกลับมา หรือนับแต่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบคำสั่งฯ  งานวินัยและสอบสวนจะบันทึกเสนอผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาลงนามหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้คณะกรรมการสอบสวนทราบ พร้อมส่งหลักฐานการรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของผู้ถูกกล่าวหาหรือถือว่ารับทราบคำสั่งฯ  และเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาให้คณะกรรมการทราบ  และส่งเอกสารสำหรับให้ประธานกรรมการลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปี ที่รับทราบคำสั่ง ฯ  ไว้เป็นหลักฐาน

                     ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาลงนามหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว

                     เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงนามหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว  งานวินัยและสอบสวนจะส่งหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการสอบสวนทราบ  หากกรรมการสอบสวนเห็นว่าตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านอาจรายงานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณา  ผู้สั่งแต่งตั้งฯ จะพิจารณาเหตุคัดค้านและสั่งการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน 

                     เมื่อไม่มีรายงานเหตุที่กรรมการอาจถูกคัดค้าน หรือมีรายงานเหตุดังกล่าวแต่ผู้สั่งแต่งตั้งฯ พิจารณาแล้วไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้  และประธานกรรมการได้ลงชื่อ วัน เดือน และปีที่รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไว้เป็นหลักฐานแล้ว  คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย  การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประธานคณะกรรมการสอบสวนได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน

                     8. งานวินัยและสอบสวน ดำเนินการจัดทำเสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ในเรื่องที่ได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อ
คณะกรรมการฯ

                     9. เมื่อประธานกรรมการลงชื่อรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้ลงชื่อรับทราบดังกล่าว  ประธานกรรมการจะดำเนินการประชุมคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาเรื่องที่กล่าวหาและวางแนวทางการสอบสวน

                          9.1 การประชุมคณะกรรมการสอบสวนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด  และต้องมีประธานกรรมการอยู่ร่วมประชุมด้วย  ในกรณีจำเป็นที่ประธานกรรมการไม่สามารถเข้าประชุมได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทน

                               การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมาก  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดในการดำเนินการประชุมพิจารณาสอบสวนจะจัดทำบันทึกการประชุมทุกครั้งที่มีการสอบสวนด้วย

                          9.2 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนจะแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ หลังจากคณะกรรมการสอบสวนได้ประชุมพิจารณาวางแนวทางการสอบสวนเสร็จแล้ว  คณะกรรมการสอบสวนจะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ทราบ 

                                เมื่อผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวน  คณะกรรมการสอบสวนจะแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่า ได้กระทำการใด เมื่อใด  อย่างไรที่เป็นความผิดวินัย  และแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนอ้างพยานหลักฐานหรือนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ข้อกล่าวหาได้  โดยทำเป็นบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว.2 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย  การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 จำนวน 2 ฉบับเพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหา 1 ฉบับ  เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน 1 ฉบับ  โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย ( ในกรณีผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่มารับทราบข้อกล่าวหา  คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการต่อไป )

                                เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่  อย่างไร 

                                การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีกรรมการสอบสวนทุกคน หรือต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้

                               การบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหาจะบันทึกมีสาระสำคัญ ตามแบบ สว.4 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ หลังจากบันทึกถ้อยคำเสร็จแล้วให้อ่านให้ผู้ถูกกล่าวหาฟังหรือจะให้ผู้ถูกกล่าวหาอ่านเองก็ได้ และหากรับว่าถูกต้องแล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาและผู้บันทึกถ้อยคำลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และคณะกรรมการสอบสวนทุกคนที่ร่วมสอบสวนจะลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกถ้อยคำนั้น ถ้าบันทึกถ้อยคำมีหลายหน้า กรรมการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า  ถ้าจะต้องแก้ไขให้ใช้วิธีขีดฆ่าหรือเพิ่มเติม แล้วกรรมการสอบสวนผู้ร่วมสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนกับผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า  ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมลงชื่อ ก็จะบันทึกเหตุนั้นไว้ในบันทึกถ้อยคำ

                          9.3 ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำรับสารภาพว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนจะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นความผิดวินัยกรณีใด หากผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันตามที่รับสารภาพ  คณะกรรมการสอบสวนจะบันทึกถ้อยคำรับสารภาพรวมทั้งเหตุผลในการรับสารภาพ (ถ้ามี) และสาเหตุแห่งการกระทำไว้ในบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหาตามแบบ สว.4  ในกรณีนี้คณะกรรมการสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาโดยละเอียดจะทำการสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วประชุมพิจารณาลงมติและทำรายงานการสอบสวนมีสาระสำคัญตามแบบ สว.6 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ  แล้วรายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งการตามข้อ 10. และข้อ 11. ต่อไป

                          9.4 ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนถามผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพ  คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาต่อไป

                                 เมื่อได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และผู้ถูกกล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ  โดยจะรวบรวมทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร  และพยานวัตถุ

                                 การสอบปากคำพยานบุคคล ต้องมีกรรมการสอบสวนทุกคน  หรือต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้ 

                                 ก่อนเริ่มสอบปากคำพยานบุคคล คณะกรรมการสอบสวนจะแจ้งให้พยานบุคคลทราบว่า กรรมการสอบสวนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา  การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนเป็นความผิดตามกฎหมาย

                                 การสอบปากคำพยานบุคคล ให้บันทึกถ้อยคำตามแบบบันทึกถ้อยคำพยานของฝ่ายกล่าวหา/ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ตามแบบ สว.5 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย ฯ ในกรณีที่เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด 
หากพยานมาพบคณะกรรมการสอบสวนแต่ไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่มาหรือเรียกพยานบุคคลไม่ได้ภายในเวลาอันสมควรคณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนพยานบุคคลนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุไว้ในบันทึกการประชุมประจำวันที่มีการสอบสวน และในรายงานผลการสอบสวน 

                                การนำเอกสารหรือวัตถุมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนจะบันทึกไว้ด้วยว่าได้มาอย่างไร จากผู้ใด และเมื่อใด สำหรับพยานเอกสารให้ใช้ต้นฉบับ แต่ถ้าไม่อาจนำต้นฉบับมาได้จะใช้สำเนาที่กรรมการสอบสวนหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้องก็ได้

                               ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า การสอบสวนพยานหลักฐานใดจะทำให้การสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น หรือมิใช่พยานหลักฐานในประเด็นสำคัญ จะงดการสอบสวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่สอบสวนไว้ในบันทึกการประชุมประจำวันที่มีการสอบสวน และรายงานผลการสอบสวน

                         9.5 ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวน แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหา  คณะกรรมการสอบสวนจะจัดทำบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหามีสาระสำคัญตามแบบ สว.2 จำนวน 3 ฉบับ เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน 1 ฉบับ ส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหา 2 ฉบับ พร้อมทั้งมีหนังสือสอบถามผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือสถานที่ติดต่อที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบ  โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บ สว.2 ไว้ 1 ฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปี ที่รับทราบใน สว. 2 อีก 1 ฉบับ และส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการสอบสวน  เมื่อล่วงพ้น 15 วันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแม้จะไม่ได้รับแบบ สว.2 คืน ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาแล้ว และคณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาต่อไป ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ

                        9.6 เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะประชุมพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด 

                               เมื่อได้ประชุมพิจารณาสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ คณะกรรมการสอบสวนจะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ทราบ

                               เมื่อผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุข้อกล่าวหาที่ปรากฏตามพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด  มาตราใด  และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ทราบ โดยระบุวัน เวลา สถานที่ และการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา  สำหรับพยานบุคคลจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้  โดยทำเป็นบันทึกมีสาระสำคัญตามแบบ สว.3
ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ จำนวน 2 ฉบับเพื่อมอบให้ผู้ถูกกล่าวหา 1 ฉบับ  เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน 1 ฉบับ  โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปีที่รับทราบไว้เป็นหลักฐานด้วย ( ในกรณีผู้ถูกกล่าวหามาพบคณะกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการต่อไป )

                         9.7 เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะถามผู้ถูกกล่าวหาว่าจะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือหรือไม่  ถ้าผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ คณะกรรมการสอบสวนจะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหายื่นคำชี้แจงภายในเวลาอันสมควร แต่อย่างช้าไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา  และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน หรือให้ถ้อยคำเพิ่มเติม  รวมทั้งนำสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย

                               ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์จะยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือ คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาโดยเร็ว  การนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมาเองหรือจะอ้างพยานหลักฐานแล้วขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้

                               เมื่อได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา
ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร  และพยานวัตถุภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้วเสร็จ

                               การนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะนำพยานหลักฐานมาเอง  หรือจะอ้างพยานหลักฐานแล้วขอให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานหลักฐานนั้นมาก็ได้

                               การสอบปากคำพยานบุคคล จะบันทึกถ้อยคำตามแบบบันทึกถ้อยคำพยานของฝ่ายกล่าวหา/ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ตามแบบ สว.5 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ 

                       9.8 ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบ หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา คณะกรรมการสอบสวนจะจัดทำบันทึก
การแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามแบบ สว.3  จำนวน 3 ฉบับ เก็บไว้ในสำนวนการสอบสวน 1 ฉบับ ส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหา 2 ฉบับ พร้อมทั้งมีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง นัดมาให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ หรือสถานที่ติดต่อที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งให้ทราบ โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บ สว.3 ไว้ 1 ฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อ และวัน เดือน ปีที่รับทราบใน สว.3 อีกฉบับหนึ่งส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เมื่อล่วงพ้น 15 วันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าว แม้จะไม่ได้รับแบบ สว.3 คืน หรือไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำตามนัด ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาแล้วและไม่ประสงค์จะแก้ข้อกล่าวหา ในกรณีนี้คณะกรรมการสอบสวนจะไม่สอบสวนต่อไปก็ได้ หรือถ้าเห็นเป็นการสมควรที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจะสอบสวนต่อไปตามควรแก่กรณีก็ได้ แล้วประชุมพิจารณาลงมติและทำรายงานการสอบสวนมีสาระสำคัญตามแบบ สว.6 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ  แล้วรายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

                     9.9 ถ้าผู้ถูกกล่าวหามาขอให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนจะเสนอสำนวนการสอบสวนโดยมีเหตุผลอันสมควร  คณะกรรมการสอบสวนจะให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ

                    10. เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวแล้วเสร็จ 
คณะกรรมการสอบสวนจะประชุมพิจารณาลงมติว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่  ถ้าผิดเป็นความผิดวินัยกรณีใด  ตามมาตราใด  และควรได้รับโทษสถานใด  

                          ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า  ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยแต่ได้กระทำผิดจรรยาบรรณที่ไม่เป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบสวนจะทำรายงานการสอบสวน และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากร

                         ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษปลดออกหรือไล่ออก  ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาลงมติว่าถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ หรือไม่ อย่างไร

                  11. ฝ่ายเลขานุการ ดำเนินการจัดทำรายงานการสอบสวนซึ่งมีสาระสำคัญตามแบบ สว.6 ที่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยฯ ตามมติของคณะกรรมการ และลงลายมือชื่อคณะกรรมการสอบสวน  แล้วเสนอรายงานผลการสอบสวนและสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งพยานหลักฐานต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาสั่งการ และให้ถือว่าการสอบสวนแล้วเสร็จ

                  12. เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย) ได้รับรายงานผลการสอบสวนและสำนวนการสอบสวนจะตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการสอบสวนและพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว ทั้งนี้ไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้รับสำนวนการสอบสวน

                  13. งานวินัยและสอบสวน ดำเนินการตามผลการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้ง โดยจัดทำคำสั่งลงโทษทางวินัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณาลงนามในคำสั่งลงโทษทางวินัยต่อไป

                  14. กรณีที่ต้องรายงานคำสั่งโทษทางวินัยต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบสำหรับการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย งานวินัยและสอบสวนดำเนินทำบันทึกเพื่อรายงานสภามหาวิทยาลัยทราบต่อไป

                  15. งานวินัยและสอบสวน ดำเนินการจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งคำสั่งลงโทษทางวินัยและแจ้งสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย แก่ผู้ถูกลงโทษ  หน่วยงานของผู้ถูกลงโทษ  กองทรัพยากรมนุษย์  กองคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

                  16. ผู้ถูกลงโทษได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษทางวินัยอาจดำเนินการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษทางวินัยจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป (สิ้นสุดกระบวนการ)

                  17. ผู้ถูกลงโทษทางวินัยไม่พอใจจึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ

                  18. บุคลากรที่ถูกลงโทษทางวินัยซึ่งจะอุทธรณ์ต้องมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก.อ.ม.) แล้วนำมายื่นหรือส่งมาที่กองนิติการโดยผู้อุทธรณ์ต้องยื่นหนังสืออุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษ

                  19. เมื่อมีผู้มายื่นหนังสืออุทธรณ์ที่กองนิติการ เจ้าหน้าที่จะออกใบรับหนังสืออุทธรณ์ให้แก่ผู้อุทธรณ์ เพื่อให้ทราบว่าได้รับเรื่องไว้วันใด และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันใด จากนั้นเลขานุการจะตรวจสอบเรื่องอุทธรณ์เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุม ก.อ.ม. รวมทั้งนัดประชุม ก.อ.ม.

                  20. ก.อ.ม. จะประชุมเพื่อพิจารณาว่ารับหรือไม่รับเรื่องอุทธรณ์  เรื่องอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ต้องเป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้อง  และยื่นภายในกำหนดเวลา  ในกรณีที่ ก.อ.ม. มีมติไม่รับอุทธรณ์รายใดไว้พิจารณา เลขนุการจะจัดทำหนังสือแจ้งมติเสนอให้ประธาน ก.อ.ม. ลงนาม เพื่อนำเสนอให้อธิการบดีลงนามแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้อุทธรณ์ทราบ

                  21. ถ้า ก.อ.ม. มีมติรับอุทธรณ์ เลขานุการจะจัดทำหนังสือเสนอให้ประธาน ก.อ.ม. ลงนาม เพื่อขอสำนวนการสืบสวน สอบสวน หรือสำนวนการดำเนินการทางวินัยจากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                 22. เลขานุการจะตรวจสอบสำนวนการสืบสวน สอบสวน หรือสำนวนการดำเนินการทางวินัยเพื่อเตรียมไว้นำเสนอความเห็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อที่ประชุม ก.อ.ม.รวมทั้งนัดประชุม ก.อ.ม.

                 23. ก.อ.ม. จะประชุมเพื่อพิจารณาและมีมติวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ โดยพิจารณาจากสำนวนการสืบสวนหรือการพิจารณา  สำนวนการดำเนินการทางวินัย  เอกสารหลักฐานต่างๆ  ถ้อยคำของบุคคล หรือหนังสือชี้แจงของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์

                 24. เลขานุการจะจัดทำหนังสือรายงานผลการพิจารณาให้ถูกต้อง ครบถ้วน  ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามมติของ ก.อ.ม. เพื่อเสนอให้ประธาน ก.อ.ม. ลงนาม เพื่อรายงานสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง

                25. สภามหาวิทยาลัยจะพิจารณารายงานผลการพิจารณาของ ก.อ.ม. แล้วมีมติให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง

                26. เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้สั่งการเป็นประการใดแล้วให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น

                27. เลขานุการจัดทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเสนอให้อธิการบดีลงนาม เพื่อแจ้งให้ผู้อุทธรณ์  ผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบ

               28. งานวินัยและสอบสวน  กองนิติการดำเนินการจัดส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้อุทธรณ์ทราบ รวมทั้งจัดส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์ได้รับทราบด้วย

  2. กระบวนงานการร้องทุกข์

               2.1 ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อประธานคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์

               คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์มี 2 คณะ  ได้แก่

                      2.1.1 คณะกรรมการอุทธรณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก.อ.ม.)

                                มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจเนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของอธิการบดี  รวมถึงคำสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนและคำสั่งลงโทษทางจริยธรรมด้วย

                      2.1.2 คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์

                                มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ในกรณีเหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงานและคำสั่งลงโทษทางจริยธรรม

                                การยื่นหนังสือร้องทุกข์จึงมี 2 กรณี  กล่าวคือ ถ้าเป็นการร้องทุกข์กรณีเหตุที่เกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของอธิการบดี  ผู้ร้องทุกข์ต้องทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก.อ.ม.) แต่ถ้าเป็นการร้องทุกข์กรณีที่เหตุเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงาน ผู้ร้องทุกข์ต้องทำเป็นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์

                                โดยทั้งสองกรณีผู้ร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการกระทำหรือได้รับทราบคำสั่ง แล้วนำมายื่นหรือส่งมาที่กองนิติการ

                   2.2 ออกใบรับหนังสือและตรวจสอบเพื่อจัดทำรายงานเสนอความเห็น

                               เมื่อมีผู้มายื่นหนังสือร้องทุกข์ที่กองนิติการ เจ้าหน้าที่จะออกใบรับหนังสือร้องทุกข์ให้แก่ผู้ร้องทุกข์ เพื่อให้ทราบว่าได้รับเรื่องไว้วันใด และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันใด จากนั้นเลขานุการคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จะตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ รวมทั้งนัดประชุม

                  2.3 ประชุมพิจารณามีมติรับหรือไม่รับเรื่องร้องทุกข์

                                คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จะประชุมเพื่อพิจารณาว่ารับหรือไม่รับเรื่องร้องทุกข์  เรื่องร้องทุกข์ที่จะรับไว้พิจารณาได้ต้องเป็นการร้องทุกข์ที่ถูกต้อง  และยื่นภายในกำหนดเวลา  ในกรณีที่คณะกรรมการฯ  มีมติไม่รับเรื่องร้องทุกข์รายใดไว้พิจารณา  เลขานุการคณะกรรมการฯ จะจัดทำหนังสือแจ้งมติเสนอให้ประธานคณะกรรมการลงนาม เพื่อนำเสนอให้อธิการบดีลงนามแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ

                  2.4 จัดทำหนังสือขอให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ชี้แจงและส่งเอกสารหลักฐาน     

                               ถ้าคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์มีมติรับเรื่องร้องทุกข์ เลขานุการคณะกรรมการ ฯ จะจัดทำหนังสือขอให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ชี้แจงและส่งเอกสารหลักฐาน

                  2.5 เสนอความเห็น ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายต่อคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์

                              เลขานุการคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบเอกสารหลักฐาน รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมไว้นำเสนอความเห็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ

                 2.6 พิจารณาและมีมติวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์

                              คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จะประชุมเพื่อพิจารณาและมีมติวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมทั้งคำชี้แจงและคำแถลงการณ์ของผู้เกี่ยวข้อง โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือร้องทุกข์

               2.7 จัดทำรายงานตามมติของคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์

                              เลขานุการจะจัดทำหนังสือรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  ตามมติของคณะกรรมการฯ  เพื่อเสนอให้ประธานคณะกรรมการฯ ลงนาม  เพื่อรายงานสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วงในกรณีที่ ก.อ.ม. เป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์  หรือรายงานอธิการบดีเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ แล้วแต่กรณี

              2.8 พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง / พิจารณาวินิจฉัย

                             กรณีรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของ ก.อ.ม.  ให้เสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง  เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาแล้วจะพิจารณามีมติให้ความเห็นชอบทักท้วง 

                             กรณีรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์  ให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์รายงานความเห็นต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาวินิจฉัย  เมื่ออธิการบดีได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้ว  ให้ดำเนินการ ดังนี้

                             1. เรื่องร้องทุกข์ที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงานโดยเฉพาะ ให้คำวินิจฉัยและคำสั่งของอธิการบดีเป็นที่สุด และให้แจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

                             2. เรื่องร้องทุกข์ที่เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของส่วนงานนั้นเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาซึ่งเป็นผลให้อธิการบดีมีคำสั่งหรือกระทำการใดที่มีผลกระทบสิทธิของผู้ร้องทุกข์ หากคำวินิจฉัยเห็นด้วยกับคำร้องทุกข์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้อธิการบดีสั่งให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเหตุแห่งการร้องทุกข์ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของอธิการบดี และแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

                             หากคำวินิจฉัยของอธิการบดีไม่เห็นด้วยกับคำร้องทุกข์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน  ให้อธิการบดีรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลต่อสภามหาวิทยาลัย  เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือทักท้วง  เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้มีมติหรือสั่งการเป็นประการใดแล้ว  ให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น 
และแจ้งมติพร้อมทั้งแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

              2.9 สั่งตามมติสภา

                             เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของ ก.อ.ม.  หรือรายงานคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของอธิการบดี  และมีมติหรือสั่งการเป็นประการใดแล้วให้อธิการบดีสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น

            2.10 จัดทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

                             เลขานุการของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จัดทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเสนอให้อธิการบดีลงนาม เพื่อแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

            2.11 ผู้ร้องทุกข์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

                            กองนิติการดำเนินการจัดส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมทั้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ รวมทั้งจัดส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบด้วย

3. กระบวนงานการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด

             3.1 ขั้นตอนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

                          กรณี 1  เมื่อกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่หน่วยงานใดและเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางละเมิด และหน่วยงานนั้นได้ส่งเรื่องมายังกองนิติการ งานวินัยและสอบสวนในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยหรือไม่ และเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เพื่อเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาสั่งการต่อไป

                          กรณี 2  เมื่อมีกรณีเกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก และบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต้องออกหลักฐานการรับเรื่องให้ไว้แก่บุคคลภายนอก เมื่อมหาวิทยาลัยส่งเรื่องมายังกองนิติการ งานวินัยและสอบสวนในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยหรือไม่ และเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เพื่อเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาสั่งการต่อไป

             3.2 เมื่อมหาวิทยาลัยได้รับการเสนอความเห็นจากงานวินัยและสอบสวน กองนิติการแล้ว ก็จะพิจารณาว่าเป็นกรณีตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 8 (กรณีความเสียหายเกิดขึ้นแก่หน่วยงานของรัฐ) หรือข้อ 33 (กรณีบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งหากกรณีเป็นไปตามที่ระเบียบดังกล่าวกำหนด มหาวิทยาลัยก็จะพิจารณาสั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เพื่อทำการสอบสวนพิจารณาตามระเบียบฯ ต่อไป

             3.3 งานวินัยและสอบสวน กองนิติการ จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาลงนาม

             3.4 เมื่อมหาวิทยาลัยพิจารณาลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่แล้ว นิติกรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จัดทำหนังสือแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ฯ พร้อมสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ให้คณะกรรมการทราบ

             3.5 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดำเนินการสอบสวนพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 และข้อ 16 และรายงานผลการพิจารณาต่อมหาวิทยาลัย
เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

             3.6 การดำเนินการตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ได้มีการกำหนดให้ดำเนินการผ่านโปรแกรมระบบงานของระบบสารสนเทศบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้มีการพัฒนาและสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาการสอบสวน

           - ในกรณีที่มีรวบรวมข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลซึ่งมีจำนวนมากและต้องจดบันทึกคำให้การ การดำเนินการของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดควรต้องกำหนดให้มีการประชุมเพื่อจัดให้ มีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อควบคุมระยะเวลาการสอบสวนให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลา

           - ในกรณีที่เรื่องที่สอบสวนเป็นกรณีการกระทำทุจริตทางการเงิน และต้องมีการรวบรวมข้อเท็จจริงในส่วนอื่นเพิ่มเติมว่าได้เกิดมีความเสียหายด้วยหรือไม่ การที่จะให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยอาจส่งผลให้การสอบสวนไม่อยู่ภายในกรอบระยะเวลาได้
กรณีนี้หน่วยงานของรัฐต้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความเสียหายในส่วนอื่นนอกเหนือจากความเสียหายที่ปรากฏและสรุปสำนวนให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพิจารณาดำเนินการต่อไป

             3.7 งานวินัยและสอบสวน ดำเนินการตามผลการพิจารณาสั่งการของมหาวิทยาลัย ดังนี้

                              กรณี 1 ความเสียหายเกิดขึ้นแก่หน่วยงานของรัฐ 

                    ดำเนินการจัดทำหนังสือเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาลงนามแจ้งผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ต้องรับผิด ผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานต้นสังกัด หากเป็นกรณีที่ต้องรายงานกระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบก็จัดทำหนังสือเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาลงนามเพื่อส่งเรื่องพร้อมสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
เมื่อกระทรวงการคลังตรวจสอบและแจ้งผลการพิจารณามายังมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ดำเนินการจัดทำหนังสือเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาลงนามแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

                   ในกรณีที่ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้ว หากกระทรวงการคลังไม่แจ้งผลการพิจารณาก่อนสิ้นสุดอายุความไม่น้อยกว่าหกเดือน ให้รายงานผลการดำเนินการให้มหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

                              กรณี 2 ความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก

                   ดำเนินการจัดทำหนังสือเสนอมหาวิทยาลัยพิจารณาลงนามแจ้งบุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหาย สิ้นสุดกระบวนการ